สวนสุขภาพ
มูลนิธิเพื่อนหญิง
เปิดร้านแล้วค่ะ

ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง เล่าต่อว่า ในปีค.ศ.1889 คลาร่า แซทคิน (clara zetkin ) ผู้นำสตรีชาวเยอรมันได้แสดงสุนทรพจน์เป็นครั้งแรก เรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส โดยเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็กอย่างเท่าเทียม รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติ และระดับสากล ซึ่งนับเป็นการเรียกร้องที่สำคัญอย่างยิ่ง และยังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา
สำหรับประเทศไทย ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อเวทีโลกในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรี มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการและกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย คือ มีเจตนารมณ์ให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการใช้และควบคุมทรัพยากร เพื่อให้หลุดจากการกีดกันต่างๆ ให้สตรีได้มีโอกาสรับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี?
ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ให้คำตอบว่า การไม่เคารพในสิทธิสตรี ตลอดจนการเลือกปฏิบัติต่อผู้เป็นสตรีนั้นแต่เดิมอาจเป็นเพราะสภาพสังคมสมัยโบราณที่มีการถือปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยที่ผู้ชายจะมีความรับผิดชอบในฐานะที่ เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บทบาทของสตรีลดลง แต่ปัจจุบันนั้นสตรีเองก็ได้รับการศึกษาขั้นสูง มีความสามารถ และมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้สิทธิสตรีได้รับการพัฒนา ยอมรับ และได้รับการคุ้มครองในด้านต่างๆ มากมายตามมา
"แม้จะมีสิทธิสตรีอยู่มากมาย แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อแขนงต่างๆ ยังคงแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงยังคงถูกทารุณกรรม เอารัดเอาเปรียบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงรากฐานค่านิยมและทัศนคติของสังคมไทย" ธนวดี กล่าว

เริ่มท้าวความตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี เมื่อ 8 มีนาคม ปี ค.ศ.1857
กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้า และตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ได้เดินขบวนเรียกร้องสิทธิในการทำงาน ให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น
พร้อมทั้งเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้าง และปรับปรุงสภาพการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อสตรี
การขับเคลื่อนด้านสิทธิสตรีของประเทศไทยในปี 2558
ธนวดี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเพื่อนหญิง และเครือข่ายสิทธิสตรีทั่วประเทศ ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายสตรีต่อรัฐบาล เนื่องใน "วันสตรีสากล" ได้แก่ 1. เพิ่มมาตรการกวาดล้างแหล่งอบายมุขที่อยู่ใกล้สถานศึกษา ชุมชน และวัด ที่มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน และกวาดล้างการค้ามนุษย์ 2. กวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยผลักดันผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 3. ขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่ควรเผยแพร่รูปอนาจาร และขอให้รัฐบาลกวาดล้างสื่อลามกในทุกรูปแบบ 4. ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการทำงานในเชิงรุก เพื่อแก้ไขปัญหาโดยการลงพื้นที่ร่วมกับกลุ่มสตรีในระดับชุมชน
5. สนับสนุนให้สำนักงานตำรวจเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิง เพื่อรองรับคดีและความรุนแรงที่เกิดกับสตรี 6.แก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
โดยจัดตั้งศาลพิเศษที่ดูแลด้านการค้ามนุษย์เฉพาะขึ้น และ 7. หนุนส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยการปรับกฎระเบียบ เพิ่มช่องทาง เพิ่มมาตรการที่ทำให้ผู้หญิงมีบทบาท มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนและประเทศในทุกระดับ
นอกจากนี้ ทั่วประเทศจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ในหลายรูปแบบเกิดขึ้นอาทิ วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม เป็นกิจกรรมของเครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง คือ การรวมตัวเต้นในที่สาธารณะ เพลงทำลายโซ่ตรวน (Break the chain) เพื่อเป็นการยืนยันว่า 'มนุษย์ทุกคนรวมทั้งผู้หญิงมีสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง สร้างพื้นที่ทางสังคม แสดงพลัง และสื่อสารถึงการไม่ยอมรับการทำร้ายผู้หญิงยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง' ณ ลานหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ เวลาบ่าย 3 โมงเป็นต้นไป
"วันสตรีสากล ไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่สตรีจากทุกทวีป ซึ่งแม้จะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ได้รวมตัวกันฉลองวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน ให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคความยุติธรรม สันติภาพ" ธนวดี กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต