อ้างอิงจาก  http://news.voicetv.co.th/thailand/64729.html
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สะท้อนปัญหาแรงงานหญิงกับการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม ระบุระบบประกันสังคมมีเงื่อนไขที่ริดรอน สิทธิสตรี โดยเฉพาะการตรวจหาโรคมะเร็งเต้า นม และมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งการลาคลอด
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ สัมพันธ์ และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดเวทีเสวนา " สะท้อนปัญหา แรงงานหญิงกับการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการสังคม " เพื่อสะท้อนปัญหาแรงงานหญิงกับการ เข้าถึงสิทธิประกันสังคม โดยระบุว่า ระบบประกันสังคมมีเงื่อนไขที่ริดรอนสิทธิสตรี เช่น การตรวจหาโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก การลาคลอด การคุ้มครองการจ้างงาน 
โดยที่ผ่านมาผู้หญิงทำงานทั้งในและนอกระบบได้รับสิทธิ ประโยชน์ไม่เพียงพอ ตัวแทนกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาแรงงานสตรี ไม่สามารถเข้าถึงระบบประนสังคม ทั้งเรื่องเวลาการลางานไปตรวจสุขภาพ และการรับภาระตรวจโรคเอง นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขการลาคลอด และรับสวัสดิการลาคลอดที่ไม่อำนวยต่อผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องเสียสิทธิ์
ด้านนายแพทย์ พูลชัย จิตอนันต์วิทยา กล่าวว่า ผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก เฉลี่ยวันละ 14 คน และเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม ร้อยละ 60 ของอัตราผู้หญิงเสียชีวิต เฉลี่ยมีผู้หญิง เสียชีวิตจาก 3 โรคดังกล่าว เท่ากับผู้โดยสารรถตู้วันละ 2 คัน เนื่องจากสิทธิประกันสังคม ไม่รับรองค่าใช้จ่ายในการตรวจหาโรค แต่รองรับค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งตามหลัก 2 โรคนี้ สามารถรักษาได้ ป้องกันได้ หากตรวจรักษาตั้งแต่ต้น  ดังนั้นเสนอให้ระบบ ประกันสังคม ปรับสิทธิประโยชน์และวิธีการรักษามะเร็ง ทุกประเภทให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 กองทุน ปรับวิธี จ่ายเงินรักษาโรคมะเร็งให้หน่วยบริการแบบผู้ป่วยนอกให้ เป็นอัตราเดียวกัน
ทั้งนี้กลุ่มเครือข่าย ได้รวบรวมข้อเสนอให้ รัฐบาลดำเนินการแก้ไข 3 ข้อหลัก คือ เพิ่มศูนย์เลี้ยงเด็ก ในย่านโรงงานอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ให้สัตยาบัน อนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับ 183 ให้คุ้มครอง ความเป็นมารดา และให้ขยายหลักประกันสุขภาพสตรี ครอบคลุมทุกวัย เข้าถึงอนามัยเจริญพันธุ์ และมีตัวแทนผู้หญิงเข้าร่วม เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ซึ่งจะเดิน ทางไปมอบหนังสือให้คณะกรรมมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
by Porntip
6 มีนาคม 2556 เวลา 11:39 น.


หลังจากได้อ่านคำสัมภาษณ์ที่นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยในคอลัมน์ฟื้นฝอย หน้าสังคม - ชุมชน - สิ่งแวดล้อม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 15 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากว่าสถานการณ์ด้านหนี้สินของนายจ้างที่ไม่ยอมนำเงินสมทบในส่วนของตนมาส่งกับสำนักงานประกันสังคมมีมากถึง 31,600 ราย คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,918 ล้านบาท แต่ทวงหนี้คืนมาได้เพียงกว่า 200 ล้านบาท
อีกทั้งทำให้ สปส.ขาดรายได้จากยอดค้างชำระปีละกว่า 280  ล้านบาท ซึ่งรวมค่าสูญเสียโอกาสในการสร้างผลกำไรมากถึงร้อยละ 7 จึงเป็นเรื่องน่าตกใจมากในฐานะของสมาชิกผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบอย่างซื่อสัตย์ มาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน การออกมาพูดของท่านเลขาธิการประกันสังคมทำให้เห็นตัวเลขภาพรวมหนี้สินของนายจ้าง และจำนวนเงินก้อนมหาศาล ที่สมาชิกฝ่ายลูกจ้างไม่เคยได้รับรู้มาก่อน   แต่ถ้าถามว่าปัญหานี้นับเป็นปัญหาเก่าหรือไม่ บอกได้ว่าเป็นปัญหาเก่าที่ไม่ค่อยมีใครได้ใส่ใจพูดถึงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ใหญ่ใน สปส. รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงแรงงาน รัฐบาล หรือแม้แต่ผู้นำแรงงานระดับสภาแรงงานที่เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม
จากการทำงานเชิงพื้นที่ และได้จัดเวที "แรงงานไทย - แรงงานข้ามชาติ กับสิทธิประกันสังคม" ในเขตอุตสาหกรรมอ้อมน้อยฯ / รังสิตฯ และเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยผ่านโครงการพัฒนารูปแบบ กลไก เพื่อการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทย ที่สนับสนุนโดยแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน (สสส.)
มีผู้นำแรงงานไทย และข้ามชาติที่ถูกกฎหมายกว่า 100 คน ได้สะท้อนปัญหาสำคัญออกมาเรื่องหนึ่งที่แก้ไขไม่ตก คือเรื่องการเข้าไม่ถึงการใช้สิทธิประกันสังคมได้ในโรงพยาบาลที่สังกัดประกันสังคมกล่าวคือ นายจ้างเก็บเงินสมทบของลูกจ้างไปแล้วไม่ยอมนำส่งสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ อีกทั้งเงินสมทบในส่วนตนก็ไม่มีการนำส่งด้วย
เมื่อลูกจ้างที่ไม่สามารถใช้สิทธิการรักษา หรือเมื่อออกจากงานจะไปขอรับสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี กลับได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ประกันสังคมว่า นายจ้างไม่ได้มีการนำส่งเงินสมทบแต่อย่างใด และเมื่อเรียกนายจ้างมาเจรจานายจ้างกลับนำเอาหลักฐานด้านออเดอร์ และการแสดงเอกสารการขาดทุนมาขอประนอมหนี้ และพักชำระหนี้ส่วนเงินสมทบที่ไม่ได้นำส่ง ทำให้เกิดการตีความว่าในการหลบเลี่ยงการดำเนินคดี และมักถูกอธิบายไปในด้านการสร้างความเห็นใจ เช่น "นายจ้างไม่มีเจตนาที่จะโกงไม่ส่งเงินสมทบ แต่เพราะนายจ้างขาดสภาพคล่อง ขาดทุน ทำให้ไม่สามารถจัดการทางกฎหมายได้"
สุรินทร์ พิมพา หัวหน้าฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย - อ้อมใหญ่ สะท้อนว่า "ลูกจ้าง และสหภาพหลายแห่งตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ให้ไปเรียกร้องกับสำนักงานประกันสังคม หรือ ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างฐานยักยอกทรัพย์ เพราะต้องเห็นใจความเป็นลูกจ้างนายจ้าง และเพื่อทำให้บริษัท หรือโรงงานอยู่ได้ ไม่ต้องปิดกิจการ" เป็นต้น จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดจากการ กระทำของนายจ้างหลายรายที่ไม่ยอมนำส่งเงินสมทบประกันสังคม นับเป็นปัญหาที่สะสม เก็บกด และกดดัน มาตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี มีลูกจ้างจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นสมาชิกประกันสังคม ต้องหลุดจากการคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์ และหลุดออกจากการเป็นสมาชิกประกันสังคมด้วยเหตุแห่งความไม่รู้กฎหมาย เข้าไม่ถึงข้อมูลการใช้สิทธิ และเบื่อหน่ายต่อขั้นตอนกระบวนการในการจัดการปัญหานายจ้างหลายรายโกงซ้ำซาก ไปร้องสำนักงานประกันสังคมก็ไม่เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
การออกมาแถลงของท่านเลขาธิการประกันสังคม คนปัจจุบันที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตนเองและประกันสังคมมั่นใจว่า ภายในปี 2556 จะสามารถติดตามทวงหนี้คืนมาเข้าประกันสังคมได้ 2,000 ล้านบาท นับเป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง แต่ข้อน่าสนใจที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการอย่างยั่งยืนที่สำนักงานประกันสังคม โดยท่านเลขาฯ น่าจะทำได้เลยคือ
หนึ่ง การเปิดเวทีใหญ่รับฟังปัญหา พร้อมรับข้อเสนอจากสมาชิกประกันสังคมทั่วประเทศ ในการจัดการหนี้ที่เกิดจากนายจ้างหลายรายไม่จ่ายเงินสมทบจำนวนมาก อันมีผลต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม และมีผลต่อการใช้สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่เป็นสมาชิก  ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
สอง ควรจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการทำงานเชิงรุกออกแบบการบริหารจัดการหนี้ พร้อมทั้งสร้างกลไกร่วมเพื่อการตรวจสอบสถานะกิจการดังที่แจ้งต่อประกันสังคม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการตกแต่งบัญชี และผลประกอบการ
สาม การทำนโยบายเชิงรุกเรื่องถนนปลอดหนี้ ของ สปส.เพื่อเป็นทางออกให้กับนายจ้างที่ไม่สามารถส่งเงินสมทบได้ตามกำหนด และต้องการขอยืดเวลาการใช้หนี้ หรือพักชำระหนี้นั้น ประกันสังคมต้องออกมาตรการป้องสิทธิการใช้สิทธิของผู้ประกันตน ให้สามารถใช้สิทธิได้เต็มที่ เสมือนสมาชิกทั่วไป มิใช่ปฏิเสธสิทธิการใช้สิทธิประโยชน์ของสมาชิกลูกจ้างที่ส่งเงินสมทบเป็นประจำแต่นายจ้างไม่นำส่ง
สี่ สปส.ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกประกันสังคม เมื่อมีสมาชิกร้องเรียนในเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วนต่อนายจ้างบางราย ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และควรเป็นเจ้าทุกข์ดำเนินคดีทั้งทางอาญา และแพ่ง เพื่อให้เกิดความหลาบจำ และไม่ฉวยโอกาสการเอารัดเอาเปรียบด้านสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
สุดท้ายนี้กระผมในฐานะสมาชิกประกันสังคมคนหนึ่งที่ทำงานกับผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกประกันสังคม และอยู่กับปัญหา คงต้องฝากความหวังไว้ กับท่านเลขาธิการประกันสังคม ในการทำให้เรื่องนี้ได้ถูกแก้ไขอย่างมั่นคงยั่งยืน เอาจริงเอาจัง และหวังว่าข้อเสนอที่กล่าวมาทั้งสี่ข้อในข้างต้นท่านจะได้นำไปทำแผนปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นของขวัญให้กับสมาชิกประกันสังคม และกฎหมายประกันสังคม ที่จะครบรอบ 22 ปี ในเดือนกันยายน ที่จะถึงนี้ครับ


22 ปี "สปส"
กับการจัดการหนี้นายจ้าง 2 พันล้าน ความหวังที่รอคำตอบ
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ส.ค. 2555
บทความ  โดย
บัณฑิต แป้นวิเศษ
หัวหน้าฝ่ายแรงงาน มูลนิธิเพื่อนหญิง