ภาพ ผู้หญิง ไทยกับการสูบบุหรี่ในสังคมปัจจุบัน มีให้เห็นได้ง่ายและเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยจะน้อยกว่านานาประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะในประเทศไทยแนวโน้มการสูบบุหรี่ของ ผู้หญิง กำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้สูบกลับมีอายุน้อยลงทุกที
    ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ที่ต้องการลดจำนวนการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทย ได้พูดถึงสถิติการสูบบุหรี่ รวมไปถึงโทษร้ายแรงของบุหรี่ที่ส่งผลต่อร่างกายให้ฟังว่า ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ อัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2550 ถึง 2554 จากเดิมร้อยละ 1.9 ขึ้นมาเป็น ร้อยละ  2.1  เมื่อเทียบเป็นตัวเลขก็ประมาณ 600,000 คน นับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก ภาคเหนือและภาคกลาง มีจำนวนการสูบสูง ส่วนอัตราการสูบจะเป็นภาคใต้กับภาคอีสาน ที่มีจำนวนค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่นๆ
    ผศ.ดร.มณฑา ยังบอกอีกว่า พิษภัยของบุหรี่ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง จะทำให้มีโอกาสและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม โรคเกี่ยวกับปอด ทางเดินหายใจ และโรคเกี่ยวกับระบบความดันโลหิต รวมถึงโรคหัวใจหลอดเลือด ซึ่งผู้หญิงที่กินยาคุมและสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบถึง 30 เท่า
    "สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ แน่นอนว่า การสูบบุหรี่ระหว่างที่ตั้งครรภ์จะส่งผลโดยตรงกับผู้หญิงและทารก เพราะในบุหรี่มีสารพิษมากกว่า 3000 ชนิด ที่ส่งผ่านได้โดยตรงไปยังทารกครรภ์ ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะแท้งและทารกเสียชีวิตเฉียบพลัน รวมถึงพิการแต่กำเนิดได้สูงมากและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานแทรกซ้อน ขณะตั้งครรภ์ได้ง่ายมากขึ้นด้วย"
    ผศ.ดร.มณฑา อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการสูบบุหรี่ของผู้หญิง รวมถึงวัยรุ่นหญิงในปัจจุบันมีอัตราการสูบสูงขึ้น ขณะที่อายุผู้สูบกลับน้อยลงเรื่อยๆ สถิติแบบนี้ถือเป็นสัญญาณอันตราย เพราะถ้าไม่ช่วยกันลดนักสูบหน้าใหม่ จะทำให้ควบคุมสถานการณ์ยากขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงประเทศอื่นๆ จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำก็ตาม แต่ระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ ที่เพิ่มขึ้นถือว่าไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะตามหลักความเป็นจริงแล้ว อัตราการสูบต้องไม่เพิ่มขึ้นและเป็นศูนย์เท่านั้น
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะเป็น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ ที่มีอัตราการสูบสูงจนน่าเป็นห่วง เพราะกลายเป็นสถานการณ์เรื้อรัง เนื่องจากผู้หญิงสูงอายุ มีการสูบบุหรี่ทั้งชนิดเคี้ยวและบุหรี่ไร้ควัน นอกเหนือจากบุหรี่ที่สูบทั่วไป ส่วนวัยรุ่น แม้ยังมีการสูบในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ เนื่องจากปัจจุบันนี้กลุ่มเป้าหมาย ของการเพิ่มจำนวนผู้สูบบุหรี่ เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง
"นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนและดัดแปลงบุหรี่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกล่องบรรจุที่ทำเป็นลวดลายน่ารัก ดูสะอาดตา รวมถึงการเพิ่มรสและกลิ่นต่างๆ อย่างเช่น บุหรี่ที่มีรสและกลิ่นผลไม้ บุหรี่สมุนไพร เช่น บุหรี่กานพลู ซึ่งใช้รสชาติและกลิ่นเพื่อชวนเชื่อให้ผู้สูบรู้สึกว่า มีความรุนแรงและพิษภัยน้อยลงจากเดิม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย บุหรี่เหล่านี้ถูกเรียกว่า "บุหรี่ชูรส" ซึ่งถือว่าเป็นบุหรี่เถื่อน ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้คำนี้ และมีกฎหมายห้ามนำเข้า แต่ก็กลับพบว่า มีผู้ลักลอบนำเข้าและจำหน่าย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ยังมีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
    ผศ.ดร.มณฑา ได้ฝากคำแนะนำทิ้งท้ายว่า สำหรับวัยรุ่นที่อยากลอง หรือคิดว่าการสูบบุหรี่แล้วเท่ นำแฟชั่น หรือดูเป็นผู้หญิงยุคใหม่ ทันสมัย ควรปรับความคิดใหม่ เพราะการสูบบุหรี่มีผลเสียต่อร่างกายอย่างร้ายแรง อีกทั้งเมื่อผู้หญิงติดบุหรี่แล้วเลิกยากกว่าผู้ชาย จึงควรปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม ลองทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพของเราในด้านอื่น อย่างเช่น การออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นดนตรี รวมถึงการทำงานจิตอาสา ก็เป็นอีกหนึ่งในหลายวิธีเสริมสร้างบุคลิกและสุขภาพที่ดีได้เช่นเดียวกัน
    ขอขอบคุณเนื้อหาดีดี จาก สสส.
    เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th


ผู้หญิง นักสูบหน้าใหม่
เพิ่มมากขึ้น เสี่ยงมากขึ้น