จากการทำงานกับ มูลนิธิเพื่อนหญิงประจำศูนย์ประสานความช่วยเหลือ จ.มุกดาหารมานานหลายปี ภารกิจหลัก คือ การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือแก่เด็กและสตรี ที่ถูกกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ

ฉันเริ่มต้นการทำงานกับมูลนิธิเพื่อนหญิง เพราะว่า ตัวเองเป็นผู้ประสบปัญหาความรุนแรงครอบครัว และได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกิจกรรมของมูลนิธิเพื่อนหญิง ทำให้รู้สึกตัวเองยังมีทางออกที่ดีได้ และไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว สนใจงานนี้ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาก

หากฉัน ได้ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหา ทำให้เขาได้รับการช่วยเหลือ

ฉันเริ่มการทำงานให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ โดยอาศัยจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง เพราะฉันไม่ได้เรียนจบทางด้านจิตวิทยา ด้านสังคม หรือ ทางด้านกฎหมาย อาศัยใจที่ชอบอยากช่วยเหลือผู้ที่ประสบ เมื่อก่อนฉันเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น  ไม่มั่นใจในตัวเอง     ฉันพยายามพัฒนาตัวเอง  เรียนรู้การทำงานจากเพื่อนๆในหน่วยงาน ที่ทำงานด้วยกัน ได้รับคำแนะนำ ได้รับกำลังใจที่ดี ได้มุมมองความคิดในการใช้ชีวิตและแก้ปัญหา

จากการเปิดพื้นที่เล็กๆ ศูนย์ของมูลนิธิเพื่อนหญิง เพื่อให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหามาเจอกัน มาพูดคุย ระบายความทุกข์กัน ก็ทำให้ฉันได้เห็นแง่มุมชีวิตของเพื่อนคนอื่นๆ ก็ทำให้ฉันเกิดความมั่นใจ และมีกำลังใจมากขึ้น  

จากกลุ่มเล็กๆตรงนั้น ทำให้ฉันได้ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในการให้ความช่วยเหลือเคสต่างๆที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ และได้รับการดูแลต่อจากภาครัฐ และฉันก็ได้รับการยอมรับจากภาครัฐมากขึ้น


หากถามว่าปัญหาและอุปสรรคในการทำงานมีหรือไม่  ปัญหาและอุปสรรคมีเยอะมาก และมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ปัญหานี้ยังคงอยู่ เช่น ตัวของผู้หญิงเองที่ยังถูกปลูกฝังทัศนคติเก่าๆ เช่นให้อดทน ผู้หญิงไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้เป็นของตัวเองต้องพึ่งพาสามี  เรียนหนังสือน้อย เป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ได้ รวมถึงการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการ ไม่รู้ว่ามีหน่วยไหนบ้างที่ให้ความช่วยเหลือ ขั้นตอนเป็นอย่างไร ล่าช้า

คนทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิง ก็มีความรู้สึกกังวล ท้อแท้ กับการทำงานเพราะ ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผ่านเข้า เป็นปัญหาความรุนแรงทางเพศ และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การตั้งครรภ์ไม่พร้อมปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่วนเวียนไม่มีวันจบสิ้นมีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้นให้เราได้แก้ไปเรื่อยๆ  และมีบ้างในบางกรณี ที่ไม่ปรับเปลี่ยนความคิด หรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือบางกรณีที่กลไกการช่วยเหลือของรัฐเข้าไปไม่ถึงหรือล่าช้า อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

การทำ GROUP SUPPORT ให้กับกลุ่มผู้หญิงที่ ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และผู้ผ่านพ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่คล้ายคลึงกัน ได้ทำให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรม เห็นว่าคนอื่นๆก็มี มีปัญหาเหมือนกับตน  เจอเรื่องเลวร้ายในชีวิต แต่ละคนมีวิธีการจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เรียนรู้ว่าตัวเองจะแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไร

นี่ก็เป็นความภาคภูมิใจที่คนทำงานอย่างฉันมักได้สัมผัสความสุข ทุกทีเมื่อนึกถึงพวกเธอเหล่านั้น

เรื่องเล่าจากคนทำงาน
อุบล  ภาคภูมิ
ศูนย์ประสานความช่วยเหลือเด็กและสตรี
จ.มุกดาหาร