“ถอดบทเรียน 1 ปี
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
และการสร้างพลังผู้หญิง”










เมื่อวันที่31 พ.ค. 56 เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพมหานคร นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียน 1 ปี กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และการสร้างพลังผู้หญิง” โดยมี นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป ประธานและคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป เครือข่ายสตรี 4 ภาคนักวิชาการและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรี หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สื่อมวลชน และมูลนิธิเพื่อนหญิง เข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้

ประธานเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป กล่าวรายงานว่า มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูปและเครือข่ายสตรี 4 ภาคติดตาม เฝ้าระวังนโยบายสตรี ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อการขับเคลื่อนติดตามความก้าวหน้าของนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้นโยบายทั่วถึงและเป็นธรรมกับผู้หญิงในทุกกลุ่มฐานเครือข่ายปัญหา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในระดับจังหวัดและระดับตำบล อีกทั้ง ศึกษา ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะการดำเนินงานบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมทั้ง เสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีบทบาทยกระดับศักยภาพ สร้างงานสร้างรายได้เพื่อการพึ่งตนเองให้กับผู้หญิง

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอแนะของแกนนำสตรี 4 ภาค และประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 77 จังหวัด ที่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

1) ขอให้ยกเลิกระบบสมาชิก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกคนสามารถใช้สิทธิ การเข้าถึงกองทุนโดยใช้บัตรประชาชนแทน

2) ขอให้มีการทบทวนในส่วนของโครงการให้คณะกรรมการกองทุนสตรีจังหวัดและตำบลเป็นผู้มีบทบาทในการบริหารจัดการกองทุน และกรมการพัฒนาชุมชนควรเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือที่ปรึกษาเท่านั้น

3) กองทุนควรบริหารและจัดการงบประมาณเองโดยไม่ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน แต่ยังใช้กรอบการเงินของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเพื่อความโปร่งใส

4) ควรจัดเวทีเพื่อการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารกองทุนระดับจังหวัดและตำบลอย่างต่อเนื่อง

5) ควรออกแบบกองทุนเพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงกองทุนอย่างไม่ม่ข้อจำกัด โดยเฉพาะผู้หญิงยากจนและขาดโอกาสเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากปัจจุบันกลุ่มซึ่งมีจำนวนมากนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนได้

6) คณะทำงานทุกระดับทั้งภาครัฐและภาคประชาชนต้องมีความรู้ ความเข้าใจมิติผู้หญิงมากกว่าเรื่องหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือสร้างงาน สร้างรายได้

จากนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความรู้สึกยินดีที่เครือข่ายสตรีภาคประชาชน ได้จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การถอดบทเรียน 1 ปี กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และการสร้างพลังผู้หญิง” พร้อมกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาสตรี 4 ภาค โดยดำเนินการไปแล้ว 2 ภาค คือ ภาคกลาง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ และภาคเหนือ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในการกำกับ ดูแล การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อเป็นนโยบายที่จะพัฒนาและสร้างพื้นที่ให้กับสตรีในการทำความเข้าใจ สะท้อนความต้องการ และมีส่วนร่วมต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการที่ผ่านมาตลอด 1 ปี ผ่านมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดเวทีการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนและสร้างหลักประกันว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะนำมาซึ่งการสร้างความเข้มแข็ง การส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีในทุกระดับ การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมถึงการบริหารจัดการนโยบายของรัฐที่มีผลกระทบต่อสตรี ครอบครัว และชุมชน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พร้อมที่จะรับฟังและจะนำไปประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อคิดเห็นที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 4 ภาคต่อไป

*************************

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ชมพูนุท / รายงาน