ตลอดเดือนพฤษภาคม มูลนิธิเพื่อนหญิงได้จัดเวทีถอดบทเรียน 1 ปี นโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและการสร้างพลังผู้หญิงผ่านมุมมองคนทำงานที่เป็นคณะกรรมการใน 4 ภาค หลังจากรัฐบาลปล่อยเงินลงให้ทั้ง 77 จังหวัด วงเงินประมาณ จังหวัดละ 100 ล้าน ทีมงานได้เดินทางไปถอดบทเรียนในแต่ละภาคและกลับมาจัดเวทีใหญ่ที่กรุงเทพฯ เมื่่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ที่โรงแรมกานต์มณี โดยมีรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ เป็นประธานเิปิดงาน ได้เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถอดบทเรียนกองทุนจาก 4 ภาค จำนวนกว่า 200 คนมาร่วมสรุึปบทเรียน ภาพรวมจากข้อเท็จจริงในพื้นที่แตกยอดประเด็น ความสำเร็จ อุปสรรคและข้อท้าทายล้วนเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระที่ควรนำออกมาเผยแพร่

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน และกลายเป็นจานด่วน ของรัฐบาลปัจจุบันที่ ประกาศตัวเดินหน้าสมัครสมาชิกกองทุนตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 2555 โดยรัฐบาลออกแบบให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแหล่งเงินทุนใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรกเป็นแหล่งเงินอุดหนุนหรือเงินให้เปล่าสำหรับองค์กร หรือกลุ่มผู้หญิงที่สามารถรวมตัวกัน 5 คนแล้วเขียนโครงการเข้ามาขอการสนับสนุน เพื่อยกระดับศักยภาพ องค์ความรู้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรี ส่วนรูปแบบที่สองเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน หมายความว่ากลุ่มผู้หญิงมาขอกู้เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น กองทุนหมุนเวียนนี้คิดดอกเบี้ยจากการกู้ร้อยละ 3 ไม่เกินสองปีและมีการกำหนดการจ่ายคืน

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกองทุนปิด หมายความว่าไม่ใช่ผู้หญิงไทยทุกคนจะมีสิทธิเดินไปขอเงินสนับสนุนได้ กองทุนนี้สนับสนุนเฉพาะองค์กรสตรีที่ขึ้นทะเบียนและผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติอื่นๆ ตามเงื่อนไขของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 และต้องมีชื่อในฐานข้อมูลสมาชิกเท่านั้น

จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีระดับชาติครั้งที่ 2/ 25561 รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานกองทุนพัฒนาฯ ว่ามีสมาชิก 9,009,258 คน (ในขณะประชากรหญิงอายุประมาณ 15 ปีขึ้นไปมีประมาณ 27 ล้านกว่าคน แสดงว่ามีประชากรหญิงประมาณร้อยละ 67 ยังไม่ได้เป็นสมาชิก) ระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน พ.ศ. 2556 สมาชิกกองทุนพัฒนาฯ จาก 76 จังหวัด เสนอขอรับการสนับสนุนและมีการอนุมัติโครงการไปแล้วจำนวน 9,848 โครงการ รวมเป็นเงิน 700,946,898 บาท มีผู้หญิงได้รับประโยชน์แล้วทั้งสิ้น 255,760 คน (กล่าวได้ว่ายังมีผู้หญิงเป็นจำนวนมากยังไม่ได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรหญิงที่มีสิทธิประมาณกว่า 27 ล้านคน)

เสียงของกลุ่มผู้หญิงจึงระดมจากเวที ถอดบทเรียน ส่งถึงรัฐบาล เพื่อให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีความก้าวหน้าในการยกระดับบทบาทสตรีเชิงคุณภาพ (ผู้หญิงมีศักยภาพ ทางความคิด ปลดแอก ตัวเอง ก้าวข้ามสภาวะการเป็นผู้รับการสงเคราะห์ พึ่งพิงซ้ำซาก) มาเป็นหุ้นส่วนอันทรงพลัง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง มีศักยภาพ เข้มแข็ง อิสระและพึ่งตนเองได้ และเป็นพลังที่สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาประเทศในทุกมิติ

การถอยหลัง ตั้งหลัก และปรับกระบวน คือประเด็นไฮไลต์หลักของการถอดบทเรียนในครั้งนี้
1. เตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจ เจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการทุกระดับอีกรอบ เพราะขณะนี้พบว่าหลายพื้นที่ยังขับเคลื่อนไปด้วยความยากลำบาก เพราะความไม่พร้อมของกลไก ทั้งเรื่องความเข้าใจในนโยบายอย่างถ่องแท้ / ความพร้อมของบุคลากรที่มีภาระงานหลายอย่าง / การรับมือต่อคำถามของ คณะกรรมการ หรือกลุ่มผู้หญิง ที่เสนอโครงการ ด้วยคำถามยอดฮิต ทำไมต้องรวมกลุ่มกัน 5 คน ทำไมต้องทำ อาชีพอย่างเดียวกัน ทำไมต้องเป็นสมาชิก และอีกหลายๆ คำถาม ที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเจ้าของคำถาม ประเด็นดังกล่าวข้างต้นเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ ผู้หญิงจำนวน กว่า 18 ล้านคนเข้าไม่ถึงกองทุนและแม้ว่าในส่วนของกลุ่มผู้หญิงที่เป็นสมาชิกกองทุนเองก็ถามหา ความโปร่งใสของการบริหารจัดการทำไมกลุ่มนั้นได้ กลุ่มนี้ไม่ได้ เป็นพรรคพวกกันหรือเปล่า เป็นต้น

2. ยกเลิกระบบการรับสมัครสมาชิกและเปลี่ยนมาเป็นการใช้บัตรประชาชนดีกว่ามั้ย เพราะเป้าหมายของกองทุน คือ กลุ่มผู้หญิงยากจนและผู้หญิงขาดโอกาส แต่กลุ่มที่เป็นสมาชิกกองทุนส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีความพร้อมหรือใกล้ชิดแหล่งข้อมูล แต่กลุ่มที่ยากจน ขาดโอกาสกลับเข้าไม่ถึง ด้วยเหตุผลจากปัญหาของการสมัครเป็นสมาชิก เช่น เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารไม่รู้ว่ามีกองทุน กรอกใบสมัครไม่เป็น ไม่สนใจเพราะดอกเบี้ยกองทุนสูงกว่ากองทุนหมู่บ้าน หรือกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน และคิดว่ามีแต่เรื่องของเงินกู้ รวมทั้งความล่าช้าหรือความไม่พร้อมของระบบราชการทำให้ ผู้สมัครขอโครงการไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในระบบสมาชิกส่งผลให้โครงการที่เสนอไปยังคณะกรรมการ ไม่ได้รับการพิจารณา นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือสมาชิกเขียนโครงการไม่เป็น เมื่อถูกให้แก้ไขหลายครั้ง รู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ บอกเลิก ถอยดีกว่า

3. ควรดึงพลังเครือข่ายองค์กรสตรีที่ทำงานด้านสตรีมานานมาเป็นแนวหน้าแนวร่วมช่วยทำงานกับคณะกรรมการกองทุน เพื่อขับเคลื่อนกองทุน ให้มีความ ลื่นไหล ทั่วถึงและเป็นธรรม / โดยการ จัดเวทีประชุมเชิญองค์กรสตรีจากหลากหลายฐานประเด็นปัญหา และวางแผนการทำงานร่วมกันในฐานะองค์กรพี่เลี้ยงในพื้นที่เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาผู้หญิงในฐานชุมชน เพื่อการเข้าถึงกองทุน โดยสำนักนายกสนับสนุนงบประมาณ ดึงงบกลางของกองทุน สนับสนุนองค์กรเหล่านี้ให้ช่วยทำงาน และต้องยอมรับความจริงว่า หน่วยงานภาครัฐ มีข้อจำกัดในเรื่อง ภาระงาน บุคลากรโยกย้ายบ่อย ไม่ชำนาญเรื่องมิติผู้หญิงที่หลากหลายซับซ้อน ละเอียดอ่อนและเชื่อมโยงกันอยู่ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลักกองทุน และถนัดการจัดการแบบบนลงล่าง ยังมองเห็นผู้หญิงเป็นเพียงผู้รับการสงเคราะห์ มากกว่าเป็นหุ้นส่วน จึงยังไม่เข้าใจหรือเห็นความสำคัญของคำว่า มีส่วนร่วมกระบวนการเรียนรู้ และการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิง องค์ความรู้เหล่านี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน หรือพลิกตำรา 4 ยุทธศาสตร์กองทุน แล้วจะทำได้

4. ควรปรับเปลี่ยนร้อยละเงินทุนในกองทุนหมุนเวียนจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 60 และกองทุนอุดหนุนจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ขอให้มีงบการบริหารจัดการ / ค่าตอบแทน / สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการทุกระดับ รวมทั้งการสนับสนุน งบประมาณ จัดเวทีบูรณาการระหว่างชุดกรรมการจังหวัด / ในหลายจังหวัดคณะกรรมการติดตามสนับสนุนการทำงานกองทุนสตรีจังหวัด ยังไม่มีการขยับในขณะที่ มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว
หยุดเพื่อตั้งสติ ถอยหลังเพื่อตั้งหลัก ปรับกระบวนเพื่อความก้าวหน้าและสร้างพลังให้ผู้หญิง เป็นการบ้านที่เวทีการประชุมถอดบทเรียนของภาคประชาชนเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาส่งเสียงมาถึงรัฐบาล และการที่ภาครัฐเองได้มีแผนการจัดเวที รับฟังความคิดเห็น ของสมาชิกกองทุนสตรีใน 4 ภาคเพื่อเรียนรู้ 4 ยุทธศาสตร์กองทุน อย่างน้อยก็เป็นนิมิตหมายที่ดีในความพยายามหยุดคิดของรัฐบาล แต่ขออย่ารีบร้อนกดดันข้าราชการให้ทำผลงานที่วัดกันที่จำนวนโครงการที่เสนอเข้ามา จังหวัดไหนมีโครงการมากและอนุมัติงบออกไปได้มาก ถือว่าทำงานได้ประสบผลสำเร็จ เพราะประเดี๋ยวจะเจอแต่ของปลอม และขอให้รัฐบาลใช้ชุดข้อมูลของการถอนบทเรียนขององค์กรสตรี เป็นประโยชน์ ต่อการปรับกระบวนเพื่อขับเคลื่อนให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
เป็นกองทุนที่ส่งเสริมบทบาทสตรี ยกระดับศักยภาพและ สร้างพลังให้ผู้หญิงและที่สำคัญ กองทุนน่าจะเป็นเครื่องมือ ในการเรียนรู้เรื่องของการรวมกลุ่ม การสร้างพลังโดยการเป็นเครือข่าย การบริหารจัดการที่ผู้หญิงสามารถจัดการร่วมกันได้ รวมทั้งให้นโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีกฎหมายมารองรับ และมีการจัดตั้งเป็นองค์กร มีความเป็นอิสระโดยมีหน่วยงานรัฐในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณ ให้มีบทบาทเป็นเพียง ที่ปรึกษา เพื่อยกระดับบทบาทสตรี เชิงคุณภาพ คือ เป็นตัวจริง เสียงจริง และมีบทบาทจริงๆ


เ สี ย ง ส ะ ท้ อ น จ า ก ผู้ ห ญิ ง สี่ ภ า ค
รัฐ  "ถอย     ตั้งหลัก    ปรับกระบวน"
ข้อมูลจาก http://www.womenfund.in.th/ข่าวประชาสัมพันธ์/ข่าวประชาสัมพันธ์/item/203-ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ-คกส-ครั้งที่-2-2556.html สืบค้น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556
Tags : ดร.ปิยพร ท่าจีน